วัยรุ่นหลายคนที่เป็นสาวกเกมมือถือ คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกับแอปพลิเคชันเกมที่มีชื่อว่า Pokemon Go เนื่องจากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เกมนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์กันให้ดีแล้วจะพบว่าที่เกมนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คงเป็นผลมาจากความแปลกใหม่ที่จับต้องได้ ที่ผู้ผลิตใส่มาในแอปพลิเคชัน ความแปลกใหม่ที่ว่านี้คงหนีไม่พ้นการที่ตัวโปเกมอนในเกมสามารถที่จะออกมาอยู่ซ้อนทับกับสถานที่จริงได้ ราวกับว่าเจ้าโปเกมอนพวกนั้นมีตัวตนอยู่จริง ๆ แล้วอะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ส่งให้เกมนี้ได้รับความนิยมไปไกลทั่วโลก คำตอบก็คงเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “Augmented Reality” หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า AR มาประยุกต์ใช้กับแอปพลิเคชันนี้นั่นเอง

AR เป็นเทคโนโลยีที่ใครหลาย ๆ คน คงเคยได้ยินได้ฟังผ่านหูมา คำถามก็คือ แล้วคุณรู้จักกับเจ้าเทคโนโลยีนี้ดีมากน้อยแค่ไหน เทคโนโลยี AR เป็นการจำลองเอาวัตถุเสมือนเข้าไปซ้อนทับไว้ในโลกแห่งความเป็นจริงราวกับเป็นภาพเดียวกัน โดยวัตถุเหล่านั้นอาจแสดงอยู่ในรูปภาพ 2 หรือ 3 มิติ วิดีโอหรือข้อความต่าง ๆ ทั้งนี้วัตถุเสมือนจริงพวกนี้จะถูกจำลองและจัดทำขึ้นผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ก่อนจะนำมาบรรจุเป็นฐานข้อมูลไว้ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อรอการใช้งานต่อไป

การแสดงข้อมูล AR จะต้องแสดงผลผ่านอุปกรณ์ที่พกพาได้สะดวกและสามารถรองรับข้อมูลวัตถุเสมือนได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีกล้องถ่ายรูปติดตั้งอยู่ด้วย เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือแว่นตาอัจฉริยะ เพราะกล้องเปรียบเสมือนกุญแจไขไปสู่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกจัดเก็บไว้ เปรียบเหมือนดวงตาที่ทำให้เรามองเห็นข้อมูล AR ของโลกทั้งใบที่ถูกสร้างไว้

หลักการทำงานของเทคโนโลยี AR

ในปี ค.ศ. 2004 เทคโนโลยี AR ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยถูกจัดอยู่ในหมวดงานวิจัยที่เกี่ยวกับวิทยาการทางด้านคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยหลักการทำงานที่เกี่ยวข้องกันระหว่างอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น กล้องถ่ายรูป ระบบกำหนดตำแหน่งภูมิศาสตร์ (GPS) กับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสร้างฐานข้อมูล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นวัตถุเสมือน เช่น ภาพ 3 มิติลอยอยู่บนพื้นที่ที่สนใจได้ และไม่เพียงแค่ภาพนิ่งเท่านั้นแต่เทคโนโลยี AR ยังสามารถทำให้วัตถุเสมือนนั้นเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตอยู่จริง สร้างความน่าสนใจและความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก

หลักการทำงานของเทคโนโลยี AR สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • Marker – Based หรือ หลักการจดจำภาพ (Image Recognition) โดยข้อมูล AR จะถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่ติดอยู่บนสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ ใบปลิว หรือสินค้า เช่น QR code และ Barcode เป็นต้น  และเมื่อใดที่มีการสแกนข้อมูลเหล่านั้นผ่านกล้อง ซอฟต์แวร์ของแอปพลิเคชันก็จะทำการจดจำภาพและแสดงผลข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์นั้น ๆ
  • Location – Based  หรือ Position – Based ในกรณีนี้เพียงแค่มีการติดตั้งแอปพลิเคชัน AR Location-Based ไว้ที่อุปกรณ์ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้งานส่องกล้องไปที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในอุปกรณ์จะทำการตรวจจับตำแหน่ง GPS แล้วประมวลผลว่าสถานที่ดังกล่าวคือสถานที่ใด จากนั้นจึงแสดงข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้น ๆ ซ้อนทับลงบนหน้าจอแสดงผลทันที

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR

ด้วยคุณประโยชน์อันมากมายของเทคโนโลยี AR ทำให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในงานหลากหลายด้าน เช่น

  • วิศวกรของ BMW จัดทำข้อมูล AR เกี่ยวกับขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบรถยนต์มาใช้ในการอบรม เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจข้อมูลงานต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมีความละเอียด ซับซ้อน และมีมูลค่าสูงอย่างลึกซึ้ง
  • IKEA ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR ในการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อจำลองการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ตามที่ลูกค้าต้องการ เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุดจากการบริการ
  • รายการทีวี Fox Sports ของอเมริกา นำ AR มาใช้ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาอเมริกันฟุตบอล โดยมีการ ซ้อนทับข้อมูลสถิติการแข่งขันและเปรียบเทียบตำแหน่งผู้เล่นในแต่ละทีม เป็นภาพ 3 มิติขนาดใหญ่แสดงอยู่บนหน้าจอ
  • นวัตกรรมทางการแพทย์มีการนำเอาเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัด เพื่อให้คนไข้หรือญาติสามารถเห็นถึงตำแหน่งเนื้องอกที่อยู่บนอวัยวะของคนไข้ได้แบบ Real-time