Latest Posts

ลืมภาพจำรถเข็นสำหรับผู้พิการแบบเดิม ๆ ไปได้เลย

ในอดีตหลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับการเห็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง หรือเดินเองได้ไม่ค่อยสะดวก ถูกพามาในสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการที่มีญาติหรือเพื่อนที่ทำหน้าที่เป็นคนเข็นรถให้นั่ง แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้ภาพจำเหล่านั้นอาจจะค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุด เพราะปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาให้รถเข็นสำหรับผู้พิการไม่ใช่รถเข็นธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็น Smart Wheelchair ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ ที่สามารถทำงานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น

Smart Wheelchair เป็นรถเข็นสำหรับผู้พิการที่นำเอาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้งานไม่ต้องออกแรงมากเกินไปในการเคลื่อนตัวไปในที่ต่าง ๆ โดยระบบควบคุมอาจเป็นแบบปุ่มกด หรือ แบบ Joystick ที่มีไว้เพื่อควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของรถเข็น แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือต่อมาได้มีการนำเอาแอปพลิเคชันในระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ iOS หรือ ระบบ Android เข้ามาช่วยควบคุมการทำงานของล้อรถเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้นไปอีก

หลักการทำงาน ของ Smart Wheelchair แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ  โดยส่วนที่หนึ่ง คือ ส่วนที่เป็นอุปกรณ์ (Hardware) อันประกอบด้วยรถเข็นสองล้อทั่วไปที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันกับมอเตอร์ควบคุมการเคลื่อนที่ รวมทั้งบอร์ดควบคุมการทำงานของมอเตอร์นั้นด้วย และส่วนที่สอง คือ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ที่คิดค้นขึ้นทั้งในระบบปฏิบัติการแบบ IOS และ ระบบ Android โดยเชื่อมต่อการทำงานของทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันผ่าน Bluetooth 

ด้วยระบบแอปพลิเคชันนี้ ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของ Smart Wheelchair ได้ใน 4 รูปแบบด้วยกัน อาทิ

  • ควบคุมด้วยระบบสัมผัสหน้าจอ (Touchscreen)
  • ควบคุมด้วยหลักการ Accelerometer ที่สามารถบังคับทิศทางของล้อรถเข็นให้แสดงผลตามความลาดเอียงหรือการเบี่ยงซ้าย ขวา หน้า หลัง ตามตำแหน่งองศาความลาดเอียงของหน้าจอ Smartphone ได้
  • ควบคุมด้วยระบบคำสั่งงานด้วยเสียง โดยการตั้งค่าให้ Smartphone จดจำน้ำเสียงพูดของผู้ใช้งาน (Voice Recognition) แต่อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา ผู้ใช้งานอาจจะต้องเรียนรู้ในการที่จะออกคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นภาษาที่แอปพลิเคชันสามารถรองรับได้ง่ายกว่าภาษาไทย
  • ควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair based on Eye Tracking) ภายใน Smart Wheelchair จะมีเครื่องมือที่ทำหน้าที่คอยตรวจจับการเคลื่อนไหวดวงตาของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลประมวลผลไปยังส่วนควบคุมทิศทางของล้อรถให้เปลี่ยนทิศทางไปตามสายตาของผู้ใช้งาน

โดยรูปแบบแต่ละอันก็อาจมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและงบประมาณของผู้ใช้งานในแต่ละราย อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานแบบใด การคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมาก็เป็นประโยชน์มหาศาลต่อผู้ใช้งานที่อาจจะเป็นได้ทั้งผู้พิการหรือผู้สูงอายุให้มีทางเลือกในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ภายในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุข ไม่ต้องรู้สึกว่าตนเองกลายเป็นภาระของผู้อื่นมากจนเกินไป และเป็นการสนับสนุนให้เห็นถึงแนวคิดที่สำคัญในการที่จะช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการในสังคมมากขึ้น

จะดีกว่าไหมหากให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นแบ่งเบาภาระงานบ้านของคุณ

การทำงานที่ต้องเร่งรีบในแต่ละวัน ไหนจะเสียเวลาไปกับการเดินทางอันยาวนานด้วยการจราจรที่แน่นขนัดไปทุกเส้นทางในเมืองกรุง ส่งผลให้เมื่อกลับมาถึงบ้านแต่ละคนก็แทบจะหมดเรี่ยวหมดแรงไม่อยากที่จะต้องทำอะไรกันอีกแล้ว แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อยังมีงานบ้านที่รอให้สะสางอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า รีดผ้า หรืองานอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทำความสะอาดบ้าน เพราะสภาพวะแวดล้อมในเมืองช่างง่ายต่อการก่อให้เกิดมลพิษและฝุ่นตัวร้ายที่จะคอยคุกคามระบบทางเดินหายใจของคุณและคนที่คุณรัก ไม่ว่าอย่างไรการจัดการกับฝุ่นในบ้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ถ้าเป็นอย่างนั้นจะดีกว่าไหมหากมีเทคโนโลยีชนิดหนึ่งชนิดใดเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคุณแม่บ้านและคุณพ่อบ้านยุคใหม่ได้

หากนึกถึงอุปกรณ์ที่จะสามารถช่วยทุ่นแรงในการจัดการกับฝุ่นในบ้านโดยที่เราไม่ต้องลงมือลงแรงเลยแม้แต่นิดเดียว เชื่อว่า “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น” น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ที่คนในยุคที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปไกลอย่างก้าวกระโดดจะนึกถึง ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนี้ค่อย ๆ ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 และยังคงถูกพัฒนาเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

หากจะพูดถึงระบบการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ปัจจัยที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ ระบบการนำทาง ที่เรียกว่า เทคโนโลยี Robot Vacuum Navigation System ซึ่งรูปแบบการทำงานหลัก ๆ ด้วยกัน 3 แบบ คือ

  1. การนำทางด้วยเซนเซอร์อินฟราเรด (Infrared Sensor) ที่จะยิงสัญญาณออกไปเพื่อหาพื้นที่ว่างในการเข้าไปทำความสะอาด ระบบนี้จะช่วยให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเคลื่อนออกมาจากบริเวณสิ่งที่มีวัตถุกีดขวางทางอยู่
  2. การใช้กล้องเพื่อสร้างแผนที่ในการนำทาง (Mapping Camera) ซึ่งเป็นกล้องชนิดเดียวกันกับที่ติดอยู่บนโทรศัพท์มือถือ
  3. การใช้ระบบเลเซอร์วัดระยะทาง (Laser Distance Sensor) ซึ่งเลเซอร์ที่ยิงออกมาเป็นชนิดที่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ ยิงออกมาเพื่อหาว่ามีวัตถุรอบข้างอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ดีการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนี้อาจใช้รูปแบบการทำงานแต่ละแบบหรือใช้รูปแบบผสมก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละผู้ผลิต

5 ข้อควรพิจารณา เมื่อต้องตัดสินใจซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น

  1. รูปลักษณ์หรือรูปทรงภายนอก ควรพิจารณาเลือกซื้อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ในบ้าน เพื่อให้การดูดฝุ่นเป็นไปด้วยความสะดวก โดยรูปทรงที่เป็นที่นิยม และมีให้เลือกในท้องตลาด ได้แก่ ทรงกลม ทรงเหลี่ยม และทรงครึ่งกลมครึ่งเหลี่ยม
  2. ความจุของแบตเตอรี่ หากต้องการระยะเวลาในการดูดฝุ่นนานก็ต้องเลือกหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีปริมาณความจุแบตเตอรี่มาก ๆ หรือการทำงานกินแบตเตอรี่ไม่มากเกินไปนัก ทางที่ดีควรมีระบบ Self-Charging Base เพื่อการชาร์จแบตอัตโนมัติให้ตัวเครื่องเพื่อพร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ
  3. ขนาดกล่องสำหรับไว้ใส่ฝุ่นละออง ควรเลือกขนาดความจุที่เหมาะสมกับการใช้งาน แต่โดยทั่วไปความจุยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่อลดการเสียเวลาในการนำเศษขยะไปทิ้งบ่อย ๆ
  4. ระดับความดังของเสียงเครื่องยนต์ขณะทำงาน โดยทั่วไป เสียงเครื่องดูดฝุ่น (Vacuum Cleaner) จะส่งเสียงที่ระดับเสียงประมาณ 70 dB ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยิน
  5. ฟีเจอร์เพิ่มเติม อื่น ๆ เช่น การตั้งเวลาปิด – เปิด  การใช้รีโมทควบคุมจากระยะไกล หรือ การสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือการใช้กำแพงเสมือน (Virtual Wall) เพื่อป้องกันไม่ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าไปทำงานในบริเวณที่คุณไม่ต้องการ เป็นต้น

Digital Transformation กับธุรกิจเป็นเรื่องเดียวกัน

ในโลกที่ธุรกิจการค้ามีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด พร้อม ๆ กับความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวให้อยู่ได้ในกระแสสังคมที่อะไร ๆ ก็ขึ้นอยู่กับข้อมูล ยิ่งในยุคของโลกดิจิทัลด้วยแล้วหากผู้ประกอบการรายใดสามารถดึงเอาศักยภาพของนวัตกรรม และประโยชน์ของข้อมูลดิจิทัลเข้ามาเป็นจุดเด่นในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง ก็อาจคาดการณ์ได้ว่า ในไม่ช้าผู้ประกอบการรายนั้นคงสามารถที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของธุรกิจนั้น ๆ ได้ไม่ยาก

การนำเอาแนวคิดในเรื่องของเทคโนโลยีและประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในด้านธุรกิจ เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาไปของสินค้าและบริการ เป็นผลมาจากแนวคิดในเรื่องของ Digital Transformation เพราะเทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลนั้นก็คล้ายกันกับโลกของธุรกิจ คือ ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นเจ้าของธุรกิจจึงต้องไม่หยุดที่จะคิดหาหนทางในการปรับปรุงและพัฒนาสินค้าของตนเอง ให้มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าในสังคมยุค 4.0 ได้อย่างสูงสุด

วิธีการหลัก ๆ ที่สามารถนำเอาแนวคิดของ Digital Transformation มาประยุกต์ใช้ ได้แก่ การนำเอาข้อมูลดิจิทัลมาวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อหาทางสร้างความพึงพอใจและประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับลูกค้า ด้วยการสร้างจุดเด่นหรือจุดขายของสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค การมุ่งเน้นนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยี ตลอดจนความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแนวทางของธุรกิจให้ก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล เช่น การทำการตลาดออนไลน์ผ่านช่องทางอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชัน Facebook Twitter Instagram Line หรืออื่น ๆ

ตัวอย่างธุรกิจที่มีการนำเอา Digital Transformation มาประยุกต์ใช้แล้วสร้างความฮือฮาในสังคมไทยไม่น้อย คือ นวัตกรรมที่ชื่อว่า “Jubilee iMOMENT” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกันระหว่าง บริษัท ยูบิลลี่ เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) Jubilee บริษัทที่ให้บริการสินค้าประเภทเครื่องประดับตกแต่งที่ทำมาจากเพชร กับ บริษัท แอท แวน เทจAtVantage บริษัทที่มุ่งเน้นการพัฒนาและการให้บริการด้าน Big Data และ Machine Learning ของประเทศไทย โดยนวัตกรรมนี้เป็นการคิดค้นแอปพลิเคชันสำหรับเก็บรวบรวมช่วงเวลาดีดีของคู่รัก แล้วเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับแหวนเพชรแต่งงาน โดยอาศัยเทคโนโลยี “AI” (Artificial Intelligence) ทำให้แหวนเพชรไม่ได้มีแค่เพียงความสวยงามหรือมีไว้ประดับตกแต่งร่างกายเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ทุกครั้งเมื่อใดก็ตามที่มีการใช้สมาร์ทโฟนแสกนไปยังแหวนเพชรผู้ใช้งานจะสามารถเข้าถึงข้อมูลคู่รักเหล่านั้นได้ทันที เรียกได้ว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และสร้างประสบการณ์ความแปลกใหม่และความประทับใจให้กับลูกค้า ทำให้สินค้ามีความโดดเด่นแตกต่างจากสินค้าของคู่แข่งโดยสิ้นเชิง

จากตัวอย่างธุรกิจที่กล่าวมานั้น คาดการณ์ได้ไม่ยากเลยว่าในอนาคตอันใกล้ ในโลกของธุรกิจคงมีสินค้าใหม่ ๆ ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและข้อมูลดิจิทัลในการปรับปรุงพัฒนาต่อยอดสินค้าให้มีลูกเล่นเพิ่มมากขึ้นอีกมากมายอย่างแน่นอน

เทคโนโลยี AR/VR แตกต่างเหมือนกัน

ช่วงเวลายุคทองของเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) ที่นวัตกรรมความเจริญต่าง ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาพร้อม ๆ กัน อาจจะทำให้ใครหลาย ๆ คนสับสนระหว่างเจ้าเทคโนโลยี 2 ตัวนี้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ดี AR กับ VR ค่อนข้างมีความเหมือนที่แตกต่างกันอย่างลงตัว แต่ก่อนอื่นเราต้องมาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีแต่ละตัวให้ดีซะก่อน

AR คือ การจำลองวัตถุเสมือนขึ้นมาซ้อนทับกับสิ่งแวดล้อมของโลกจริง ซึ่งวัตถุเสมือนนั้นอาจเป็นข้อมูลรูปภาพ 2 หรือ 3 มิติ ข้อมูลวิดีโอหรือตัวอักษรก็ได้ เรียกว่าเป็นการผสมผสานระหว่างโลกเสมือนที่สร้างขึ้นมาจากการใช้จินตนาการเข้าไว้กับโลกที่มีอยู่จริงได้อย่างลงตัว โดยอาศัยหลักการทำงานระหว่างอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น กล้องถ่ายรูป ระบบ GPS กับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์กราฟิกที่ใช้ในการสร้างฐานข้อมูล AR โดยแสดงผลผ่านอุปกรณ์ง่าย ๆ เช่น สมาร์ทโฟน

ในขณะที่ VR คือการจำลองภาพเสมือนทั้งโลกให้อยู่ในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว 360 องศา เป็นการพาผู้ใช้งานไปสัมผัสประสบการณ์อีกโลกหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้น ไม่ว่าโลกนั้นจะเป็นโลกที่ถูกจินตนาการขึ้นมาหรือเป็นสภาพแวดล้อมที่มีอยู่บนโลกจริงก็ตาม VR จะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานมีการรับรู้ความรู้สึกร่วมและตอบสนองไปกับสัมผัสต่าง ๆ ของโลกเสมือนที่ถูกสร้างขึ้นผ่านอุปกรณ์ 2 ส่วน คือส่วนแสดงภาพ เช่น จอภาพสวมศีรษะ (Head Mounted Display: HMD) ที่มีลักษณะเป็นหน้าจอมอนิเตอร์ที่รับภาพจากโลกเสมือน และส่วนรับแรงป้อนกลับ เช่น ถุงมือ เมาส์ และคทา 3 มิติ เป็นต้น

ข้อแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่างเทคโนโลยี VR และ AR คือ VR ทำให้ผู้ใช้งานตัดขาดตัวเองออกจากสภาพแวดล้อมปัจจุบันที่ผู้ใช้งานอยู่เข้าไปท่องในโลกเสมือนอย่างเต็มรูปแบบ ในขณะที่ AR ทำตรงกันข้าม คือ สร้างวัตถุเสมือนที่ไม่ได้มีอยู่จริงขึ้นมา แล้วให้วัตถุเสมือนนั้นออกมาโลดแล่นราวกับมีตัวตนอยู่บนโลกจริง นอกจากนี้อุปกรณ์จำเป็นที่ต้องใช้ในเทคโนโลยี AR กับ VR ก็มีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือ VR เป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างต้องใช้อุปกรณ์ที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อนและมีราคาแพงมากกว่าเทคโนโลยี AR ที่มีเพียงแค่แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนก็สามารถที่จะแสดงผลออกมาได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจแล้ว

แต่อย่างไรก็ดีปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เหมือนกันจนแทบจะแยกไม่ออกของเทคโนโลยี 2 ตัวนี้ ก็คงจะเป็นเรื่องที่ว่า ทั้ง AR และ VR จะเข้ามาเปลี่ยนวิถีชีวิตและพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้งานให้มีทางเลือกในการใช้เทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้กับชีวิตตนเองเพิ่มมากขึ้น โดยทั้ง AR และ VR ต่างก็เป็นเทคโนโลยีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อยอดเข้ากับการทำงานในหลากหลายสาขาอาชีพ ไม่จะเป็นในด้านการศึกษา การแพทย์ การท่องเที่ยว การทหาร หรือการโฆษณา เป็นต้น

คุณรู้จักกับ เทคโนโลยี AR ดีแค่ไหน

วัยรุ่นหลายคนที่เป็นสาวกเกมมือถือ คงมีน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักกับแอปพลิเคชันเกมที่มีชื่อว่า Pokemon Go เนื่องจากในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เกมนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์กันให้ดีแล้วจะพบว่าที่เกมนี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายก็คงเป็นผลมาจากความแปลกใหม่ที่จับต้องได้ ที่ผู้ผลิตใส่มาในแอปพลิเคชัน ความแปลกใหม่ที่ว่านี้คงหนีไม่พ้นการที่ตัวโปเกมอนในเกมสามารถที่จะออกมาอยู่ซ้อนทับกับสถานที่จริงได้ ราวกับว่าเจ้าโปเกมอนพวกนั้นมีตัวตนอยู่จริง ๆ แล้วอะไรกันแน่ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จที่ส่งให้เกมนี้ได้รับความนิยมไปไกลทั่วโลก คำตอบก็คงเป็นการนำเอาเทคโนโลยีที่มีชื่อว่า “Augmented Reality” หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า AR มาประยุกต์ใช้กับแอปพลิเคชันนี้นั่นเอง

AR เป็นเทคโนโลยีที่ใครหลาย ๆ คน คงเคยได้ยินได้ฟังผ่านหูมา คำถามก็คือ แล้วคุณรู้จักกับเจ้าเทคโนโลยีนี้ดีมากน้อยแค่ไหน เทคโนโลยี AR เป็นการจำลองเอาวัตถุเสมือนเข้าไปซ้อนทับไว้ในโลกแห่งความเป็นจริงราวกับเป็นภาพเดียวกัน โดยวัตถุเหล่านั้นอาจแสดงอยู่ในรูปภาพ 2 หรือ 3 มิติ วิดีโอหรือข้อความต่าง ๆ ทั้งนี้วัตถุเสมือนจริงพวกนี้จะถูกจำลองและจัดทำขึ้นผ่านซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ก่อนจะนำมาบรรจุเป็นฐานข้อมูลไว้ในแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อรอการใช้งานต่อไป

การแสดงข้อมูล AR จะต้องแสดงผลผ่านอุปกรณ์ที่พกพาได้สะดวกและสามารถรองรับข้อมูลวัตถุเสมือนได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องเป็นอุปกรณ์ที่มีกล้องถ่ายรูปติดตั้งอยู่ด้วย เช่น มือถือ แท็บเล็ต หรือแว่นตาอัจฉริยะ เพราะกล้องเปรียบเสมือนกุญแจไขไปสู่ข้อมูลต่าง ๆ ที่ถูกจัดเก็บไว้ เปรียบเหมือนดวงตาที่ทำให้เรามองเห็นข้อมูล AR ของโลกทั้งใบที่ถูกสร้างไว้

หลักการทำงานของเทคโนโลยี AR

ในปี ค.ศ. 2004 เทคโนโลยี AR ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยถูกจัดอยู่ในหมวดงานวิจัยที่เกี่ยวกับวิทยาการทางด้านคอมพิวเตอร์ โดยอาศัยหลักการทำงานที่เกี่ยวข้องกันระหว่างอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น กล้องถ่ายรูป ระบบกำหนดตำแหน่งภูมิศาสตร์ (GPS) กับซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการสร้างฐานข้อมูล ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นวัตถุเสมือน เช่น ภาพ 3 มิติลอยอยู่บนพื้นที่ที่สนใจได้ และไม่เพียงแค่ภาพนิ่งเท่านั้นแต่เทคโนโลยี AR ยังสามารถทำให้วัตถุเสมือนนั้นเคลื่อนไหวได้ราวกับมีชีวิตอยู่จริง สร้างความน่าสนใจและความตื่นตาตื่นใจให้กับผู้ใช้งานได้เป็นอย่างมาก

หลักการทำงานของเทคโนโลยี AR สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  • Marker – Based หรือ หลักการจดจำภาพ (Image Recognition) โดยข้อมูล AR จะถูกจัดเก็บไว้ในรูปแบบของเครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ที่ติดอยู่บนสิ่งของต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นพับ ใบปลิว หรือสินค้า เช่น QR code และ Barcode เป็นต้น  และเมื่อใดที่มีการสแกนข้อมูลเหล่านั้นผ่านกล้อง ซอฟต์แวร์ของแอปพลิเคชันก็จะทำการจดจำภาพและแสดงผลข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์นั้น ๆ
  • Location – Based  หรือ Position – Based ในกรณีนี้เพียงแค่มีการติดตั้งแอปพลิเคชัน AR Location-Based ไว้ที่อุปกรณ์ เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้งานส่องกล้องไปที่สถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซอฟต์แวร์ที่มีอยู่ในอุปกรณ์จะทำการตรวจจับตำแหน่ง GPS แล้วประมวลผลว่าสถานที่ดังกล่าวคือสถานที่ใด จากนั้นจึงแสดงข้อมูลดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับสถานที่นั้น ๆ ซ้อนทับลงบนหน้าจอแสดงผลทันที

ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR

ด้วยคุณประโยชน์อันมากมายของเทคโนโลยี AR ทำให้มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในงานหลากหลายด้าน เช่น

  • วิศวกรของ BMW จัดทำข้อมูล AR เกี่ยวกับขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้ในการประกอบรถยนต์มาใช้ในการอบรม เพื่อให้พนักงานมีความเข้าใจข้อมูลงานต่าง ๆ ที่ค่อนข้างมีความละเอียด ซับซ้อน และมีมูลค่าสูงอย่างลึกซึ้ง
  • IKEA ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AR ในการจัดทำแอปพลิเคชันเพื่อจำลองการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ตามที่ลูกค้าต้องการ เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจสูงสุดจากการบริการ
  • รายการทีวี Fox Sports ของอเมริกา นำ AR มาใช้ในการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาอเมริกันฟุตบอล โดยมีการ ซ้อนทับข้อมูลสถิติการแข่งขันและเปรียบเทียบตำแหน่งผู้เล่นในแต่ละทีม เป็นภาพ 3 มิติขนาดใหญ่แสดงอยู่บนหน้าจอ
  • นวัตกรรมทางการแพทย์มีการนำเอาเทคโนโลยี AR มาประยุกต์ใช้ในการผ่าตัด เพื่อให้คนไข้หรือญาติสามารถเห็นถึงตำแหน่งเนื้องอกที่อยู่บนอวัยวะของคนไข้ได้แบบ Real-time  

โลกเสมือนจริงที่เหมือนจนแทบแยกไม่ออก

“โลกเสมือนจริง” เป็นเทคโนโลยีที่มาแรงมากในโลกที่มีการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คนในสังคมให้มีความพึงพอใจสูงสุด เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง (Virtual Reality) หรือที่ได้ยินกันคุ้นหูว่า VR คือ การจำลองภาพของสิ่งแวดล้อมทั้งที่มีอยู่จริงบนโลก และสิ่งแวดล้อมที่ถูกจินตนาการขึ้นมารวมเข้าไว้ด้วยกันอยู่ในโลกจำลองโลกหนึ่ง โลกที่ถูกสร้างขึ้นโดยนวัตกรรมของซอร์ฟแวร์คอมพิวเตอร์ผสมผสานกับเทคโนโลยีภาพ 3 มิติ และวิดีโอ ผ่านการรับรู้ด้วยสัมผัสต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการมองเห็น การได้ยิน การได้สัมผัส หรือการได้กลิ่น ซึ่งผู้ใช้งานจะเหมือนถูกดึงเข้าไปอยู่ในอีกโลกหนึ่งที่ไม่ใช่โลกความเป็นจริง โดยเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนาเทคโนโลยีนี้ คือ เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานมีความรู้สึกร่วมไปกับภาพจากโลกเสมือนจริงอย่างเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด มากจนแทบจะแยกไม่ออกว่าอันไหนโลกจริง อันไหนคือโลกที่ถูกสร้างขึ้นมา

อุปกรณ์จำเป็นเพื่อเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริง

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงมุ่งเน้นให้ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ความรู้สึกจากโลกที่ถูกจำลองขึ้นมาให้เหมือนกับว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังนั้นจึงต้องมีอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ความรู้สึกต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน โดยอุปกรณ์ของ VR สามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 ส่วน คือ “ส่วนแสดงภาพ” และส่วนที่เรียกว่า “แรงป้อนกลับ” ที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถรับรู้ความรู้สึกจากการมีปฏิสัมพันธ์ของตนเองกับเหตุการณ์หรือสภาพแวดล้อมในโลกเสมือนจริงได้ โดยอุปกรณ์ส่วนแสดงภาพ ได้แก่อุปกรณ์ที่เรียกว่า จอภาพสวมศีรษะ (Head Mounted Display: HMD) อันประกอบไปด้วยหน้าจอมอนิเตอร์ที่ใช้แสดงภาพของโลกจำลองที่ถูกสร้างขึ้นจากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์กราฟิก ส่วนอุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ส่งและรับแรงป้อนกลับ ได้แก่ ถุงมือ 3 มิติ เมาส์ 3 มิติ หรือคทา 3 มิติ เป็นต้น โดยอุปกรณ์พวกนี้ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเคลื่อนไหวได้เหมือนจริงและช่วยให้รับรู้ถึงแรงป้อนกลับจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกเสมือนจริงได้ เช่น การออกแรงง้างลูกธนู และความสั่นสะเทือนที่เกิดจากการยิงลูกธนูออกไป เป็นต้น ซึ่งอุปกรณ์ทั้ง 2 ส่วนนี้สามารถเชื่อมต่อกับระบบคอมพิวเตอร์ได้ทั้งแบบที่ใช้สายส่งข้อมูล และแบบไร้สาย

ประโยชน์จากการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง

เทคโนโลยีโลกเสมือนจริง เป็นเทคโนโลยีที่มีประโยชน์อย่างมากต่อผู้คนในสังคม เห็นได้จากการนำเอาเทคโนโลยีนี้ไปต่อยอดประยุกต์ใช้งานในหลากหลายด้าน ได้แก่

  • ด้านความบันเทิง สามารถนำเทคโนโลยี VR ไปเพิ่มความสนุกสนานและความสมจริงให้กับเรื่องราวในเกมได้
  • ด้านการแพทย์ ช่วยในเรื่องของการลดความผิดพลาดจากการวินิจฉัยโรค และเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาล หรือการจำลองการฝึกการผ่าตัดต่าง ๆ
  • ด้านการศึกษา ช่วยให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจในเรื่องที่เรียนได้อย่างลึกซึ้ง และสามารถฝึกหัดการใช้ทักษะที่ได้จากการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง เช่น ทักษะการสนทนาภาษาอังกฤษ
  • ด้านการตลาด ช่วยให้ลูกค้าสามารถเห็นภาพของการบริการ อย่างเช่น การตกแต่งภายในเพื่อประกอบการตัดสินใจได้
  • ด้านการทหาร ช่วยจำลองการฝึกทักษะทางทหารในสถานการณ์จริงได้ รวมถึงจำลองการฝึกบินของทหารอากาศได้

ข้อจำกัดของเทคโนโลยีโลกเสมือนจริง

แน่นอนว่าเทคโนโลยีทุกชนิดที่ถูกพัฒนาขึ้น ภายใต้ประโยชน์ที่มากมายมหาศาลก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะมีข้อจำกัดของเทคโนโลยีอยู่บ้าง ด้วยความที่เทคโนโลยีโลกเสมือนจริงจำเป็นจะต้องใช้ทรัพยากรซอร์ฟแวร์คอมพิวเตอร์เพื่อผลิตภาพ 3 มิติที่มีความละเอียดและมีความสมจริงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานได้อย่างสูงสุด ส่งผลให้อุปกรณ์ที่จำเป็นต่าง ๆ มีราคาแพงมาก หากเทียบกับกำลังซื้อของผู้ใช้งานทั่วไป อีกทั้งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างมีความสลับซับซ้อน บุคคลที่มีความรู้เพียงเบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อาจมีความรู้ไม่เพียงพอที่จะสามารถใช้งานอุปกรณ์ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้

เทคโนโลยีคำสั่งเสียง เรื่องใกล้ตัวที่ควรรู้

หากกล่าวถึงโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสมัยนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอีกต่อไป หากเราออกเดินไปบนท้องถนนแล้วพบกับใครบางคนที่กำลังทำท่าเหมือนคุยอยู่กับใครอีกคนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีเขาผู้นั้นยืนอยู่เพียงลำพัง เทคโนโลยีคำสั่งเสียงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้หากใครมี Smartphone อยู่กับตัวก็คงอาจจะเคยทดลองใช้งานคำสั่งเสียงอย่างแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า SIRI หรือ Google Assistant กันมาไม่มากก็น้อย

เทคโนโลยีคำสั่งเสียง เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถพูดคุยสั่งงานกับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้ ผ่านการจดจำเสียง หลักการเบื้องต้นทั่วไปของการใช้งานคำสั่งเสียง เริ่มจากผู้ใช้งานเข้าไปตั้งค่าให้อุปกรณ์จดจำน้ำเสียงของตนเอง จากนั้นทุกครั้งที่มีการพูดคุยหรือสั่งงานกับอุปกรณ์ที่ถูกตั้งค่าให้จดจำน้ำเสียงนั้น ๆ ไว้ ก็จะเกิดการประมวลผลและตอบสนองต่อคำสั่งที่ได้รับ โดยเทคโนโลยีคำสั่งเสียงประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า Deep Learning ซึ่งจะทำหน้าที่รับคำสั่งเสียงที่ได้มาแปลงเป็นตัวอักษรเพื่อให้อัลกอริทึมของระบบนำข้อมูลนี้ไปแปลงเป็นภาษาที่ทำให้อุปกรณ์เข้าใจแล้วสามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้เรียกว่า กระบวนการประมวลผลทางภาษา (Natural Language Processing: NLP)

ในยุคของโลกดิจิทัลได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Internet of Things เข้ามามีบทบาทต่อการสั่งงานระหว่างผู้ใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีคำสั่งเสียงก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี Internet of Things เหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งงานด้วยคำสั่งเสียงกับเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ รถยนต์ เป็นต้น ด้วยความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีคำสั่งเสียงนี้ ส่งผลให้มนุษย์สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเพราะมีผลการวิจัยกล่าวว่าการใช้คำสั่งเสียงช่วยให้สมองของมนุษย์ลดภาระการทำงานไปได้ในระดับหนึ่ง และนอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้งานของสายตาจากการจ้องมองหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ มากเกินไป

จากประโยชน์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาทำให้ทราบว่าเทคโนโลยีคำสั่งเสียงมีข้อดีมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นข้อด้อยก็มีมากเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกอาจทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถเข้าใจคำสั่งเสียงได้ในทันที อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการประมวลผลนานพอสมควร นอกจากนี้ระยะทางจากแหล่งกำเนิดเสียงของผู้ใช้งานกับตัวอุปกรณ์ยังมีผลค่อนข้างมาก เนื่องจากหากระยะทางไกลเกินไปคำสั่งเสียงที่อุปกรณ์ได้รับอาจไม่ชัดเจนและในบางครั้งคำสั่งอาจไม่เป็นส่วนตัวและเสียงอาจรบกวนผู้คนรอบข้างได้ และที่สำคัญระบบภาษาที่อุปกรณ์สามารถรองรับได้ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยซึ่งมีภาษาที่ค่อนข้างยุ่งยากสลับซับซ้อนต่อการประมวลผล จึงอาจทำให้การสื่อสารกับกับอุปกรณ์ยังเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร

แต่ถึงอย่างไรก็ตามเทคโนโลยีคำสั่งเสียงนี้ก็ยังคงถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและจะเข้ามามีบทบาทต่อผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าไม่ช้าในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานไปตลอดกาล

ท่องโลกกว้างเพียงปลายนิ้วกับ Google Street View

ในโลกของการแข่งขันทุกวันนี้ เชื่อว่าใครหลาย ๆ คน อาจจะหมดเวลาไปกับการทำงานแบบหามรุ่งหามค่ำ เพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตนเองและส่งเสียครอบครัวที่อยู่ข้างหลัง ทุ่มเวลาไปกับการทำงานจนไม่มีแม้กระทั่งเวลาส่วนตัว แต่นั่นก็ไม่ใช่คนทั้งหมดของสังคมที่เป็นเช่นนั้น เพราะยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่รู้จักจัดสรรเวลา สะสางการงานที่คั่งค้างเพื่อหาเวลาไปพักผ่อนหย่อนใจกับคนรักและครอบครัวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ อย่างไรก็ตามด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในสมัยนี้ เป็นเรื่องง่ายที่ต่อให้คนบ้างานขนาดไหนก็สามารถออกไปท่องโลกกว้างได้ เพียงแค่ปลายนิ้วสัมผัสกับแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Google Maps”

เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะไม่รู้จักหรือไม่เคยใช้ Google Maps แอปพลิเคชันที่ใช้สำหรับนำทางซึ่งเป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในยุคโลกดิจิทัล แต่จะมีซักกี่คนที่ทราบว่านอกจากฟีเจอร์การระบุพิกัดตำแหน่งภูมิศาสตร์ การนำทาง และการบันทึกสถานที่ที่ไปเยือนมาแล้วนั้น สิ่งที่มีประโยชน์ไม่แพ้กันต่อนักท่องเที่ยวอีกฟีเจอร์หนึ่ง ก็คือ “Google Street View”

ฟีเจอร์ Google Street View ของ Google Maps ให้บริการภาพถ่ายพาโนรามามุมมอง 360 องศา ของสถานที่ที่ผู้ใช้งานสนใจ ฟีเจอร์นี้ไม่เพียงให้บริการภาพถ่ายบนท้องถนนแต่ยังรวมไปถึงภาพถ่ายบนภูเขา ภาพถ่ายทั้งภายในและภายนอกอาคารของสถานที่สำคัญหรือสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เช่น สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ หรือแม้แต่ในสนามกีฬา โดยข้อมูลภาพถ่ายที่เก็บได้จะถูกบันทึกผ่านกล้องถ่ายภาพที่ถูกติดตั้งไว้ที่รถยนต์เก็บข้อมูลของ Google Maps หรืออุปกรณ์เก็บข้อมูลอื่น ๆ เช่น กระเป๋ากล้อง รถเข็นกล้อง หรือรถเลื่อนหิมะ เป็นต้น

เทคโนโลยี Google Street View ได้ถูกเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี ค.ศ.2007 โดยในระยะเริ่มแรกนั้นภาพถ่ายที่ให้บริการมีเพียงภาพถ่ายสองข้างทางของถนนหนทางต่าง ๆ ในประเทศสหรัฐอเมริกาเท่านั้น จนกระทั่งมีการขยายการเก็บฐานข้อมูลภาพถ่ายไปมากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยรถยนต์ติดกล้องของ Google Maps เริ่มเก็บข้อมูลภาพถ่ายสำหรับทำเป็นฐานข้อมูล Street View ของประเทศไทยในปี ค.ศ.2011 เริ่มจากการเก็บข้อมูลภาพถ่ายตามจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต จนในที่สุดประเทศไทยก็มีฐานข้อมูลภาพถ่าย Street View ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ด้วยความร่วมมือกันระหว่าง Google Maps และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย

สำหรับใครหลายคนที่ไม่มีเวลาออกไปท่องเที่ยวด้วยตนเอง เทคโนโลยี Google Street View จาก Google Maps ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจที่จะทำให้เพื่อน ๆ ไม่พลาดความสวยงามของโลกใบนี้ แค่มีอุปกรณ์ที่สามารถใช้งานแอปพลิเคชันนี้เชื่อมต่อกับสัญญาณอินเทอร์เน็ต เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต เพียงเท่านี้เพื่อน ๆ ก็สามารถออกไปท่องโลกกว้างทั้งในและต่างประเทศได้แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส

จะดีแค่ไหนหากจับโลกทั้งใบอยู่ในมือเราได้

โลกเราทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคม  เรียกได้ว่าเกี่ยวข้องตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งหลับตาลงในแต่ละวัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีนำมาซึ่งความสะดวกสบายของมนุษย์ในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการติดต่อสื่อสาร การศึกษา การคมนาคม หรือแม้แต่ในเรื่องของสุขภาพ และสิ่งที่ทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดดและเข้าถึงผู้ใช้งานได้อย่างหลากหลายเป้าหมาย นั่นก็คือระบบอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “Internet of Things”

แนวคิดในเรื่องของ Internet of Things (IoT) ถูกคิดค้นขึ้นในปี ค.ศ.1999 ที่มหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of technology โดย Kevin Ashton ซึ่งใจความสำคัญหลักของแนวคิดนี้ คือ การที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกอย่างสามารถเชื่อมโยงเข้ากับโลกอินเทอร์เน็ต สามารถพูดคุย สื่อสารหรือสั่งงานระหว่างอุปกรณ์หนึ่งไปยังอีกหลาย ๆ อุปกรณ์ ได้ภายใต้การควบคุมสั่งการของมนุษย์ผ่านสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายหรือที่เรียกกันว่า Wireless ยกตัวอย่างเช่น การสั่งเปิด-ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านผ่านโทรศัพท์มือถือ การติดตามอัตราการเต้นของชีพจรขณะวิ่ง รวมทั้งการติดตามเส้นทางที่ใช้ในการวิ่ง การสั่งงานเปิด-ปิดประตูทางเข้าบ้าน หรือการสั่งเปิด-ปิดรถยนต์จากระยะไกล เป็นต้น

ข้อดีก็คือ มนุษย์จะได้รับความสะดวกสบายในการที่สามารจะตอบสนองความต้องการของตนเองได้เพียงแค่สั่งการผ่าน Smart Device จากที่ใด มุมไหนเวลาใดของโลกก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อย่างเช่น โทรศัพท์มือถือ นาฬิกาข้อมือดิจิทอล หรือเครื่องมือสื่อสารอื่น ๆ เป็นต้น โดยตัวแปรสำคัญที่ทำให้เทคโนโลยีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพก็ประกอบไปด้วยระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในประเทศที่มีความก้าวหน้าในเรื่องความรวดเร็วของสัญญาณอินเทอร์เน็ตก็จะมีความได้เปรียบในส่วนนี้ นอกจากระบบอินเทอร์เน็ตแล้ว เทคโนโลยีนี้ยังต้องอาศัยระบบ Sensor ต่าง ๆ จำนวนมากที่จะถูกติดตั้งอยู่กับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ยิ่งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชิ้นนั้น ๆ เล็กมากเท่าไหร่ Sensor ที่จะถูกนำไปติดตั้งก็จะต้องมีการพัฒนาให้มีขนาดเล็กและมีระยะเวลาใช้งานได้ยาวนานเพื่อให้สะดวกต่อการใช้งานมากเท่านั้น เพื่อให้เครื่องมือเหล่านั้นเก็บบันทึกข้อมูลตลอดระยะเวลาที่ต้องการและประมวลผลเพื่อให้สามารถตอบสนองคำสั่งการของผู้ใช้งานได้จากในระยะไกล

อย่างไรก็ดีทุกเทคโนโลยีย่อมมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะการใช้เทคโนโลยีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต มีความเป็นไปได้สูงที่จะได้รับความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมข้อมูลสำคัญ ๆ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อผู้ใช้งาน ดังนั้นความปลอดภัยของระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นไม่น้อยไปกว่าการมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มาตรฐานและรองรับความต้องการอันหลากหลายของผู้บริโภคได้  และในอนาคตหากเมื่อใดก็ตามที่เทคโนโลยีนี้ถูกพัฒนาไปจนถึงขีดสุดพร้อม ๆ กับความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของข้อมูลของผู้ใช้งาน เมื่อนั้นความสะดวกสบายต่าง ๆ ที่จะตามมาก็คงไม่ต่างจากโลกทั้งใบอยู่ในมือเรา

หมดยุคของการเอาเชือกรัดแผลงูกัด หรือห้ามเลือด ด้วยเทคโนโลยีการรัดแผล S.T.A.T

                ทุกคนคงจะเคยเรียนมาตั้งแต่เราเป็นเด็กว่า ถ้าโดนงูกัดตรงไหนของร่างกาย ให้เอาเชือกหรือหาอะไรมารัดด้านบนของแผลที่โดนงูกัดไว้ เพื่อไม่ให้พิษของงูนั้นเข้าสู่ร่างกายได้ รวมไปถึงการเอาเชือกรัดด้านบนแผลเพื่อห้ามเลือด ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นวิธีที่ใช้ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินเหล่านี้ แต่เชือกที่นำมา หรือสิ่งที่นำมามัดนั้น ไม่ได้มีไว้สำหรับใช้งานในด้านของการแพทย์โดยตรง อีกทั้งถ้าคนช่วยปฐมพยาบาลไม่ได้ความรู้ที่จะรัดให้ถูกวิธี ก็อาจจะไม่ช่วยอะไร บางทีอาจจะทำให้แย่ลงไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ

ในตอนนี้ ได้มีเทคโนโลยีใหม่ที่ชื่อว่า S.T.AT. ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในกรณีการเกิดอุบัติเหตุลักษณะนี้โดยเฉพาะ ในอนาคตอาจจะเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องมีติดบ้านกันไว้เลยทีเดียว

Zip Line ช่วยชีวิต อุปกรณ์สำหรับห้ามเลือดยุค 2018

                เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนที่จะพาไปส่งโรงพยาบาลนั่นก็คือการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ซึ่งถือว่ามีผลมากต่อการรักษา เพราะเป็นวิธีการช่วยดูแลจัดการกับแผลที่เกิดขึ้นเท่าที่ทำได้ ก่อนที่จะไปรักษาต่อที่โรงพยาบาล และถ้าพูดถึงเรื่องของแผลที่มีเลือดออกมาก หรือเป็นแผลติดพิษจากสัตว์ร้ายต่าง ๆ ขั้นตอนการปฐมพยาบาลที่ทุกคนคงจะทราบกันอยู่แล้ว นั่นก็คือการรัดแผลเพื่อห้ามเลือด และกันพิษเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่มีอุปกรณ์ไหนที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในกรณีแบบนี้ จนตอนนี้ได้มี Zip Line S.T.A.T ผลิตออกมาจำหน่าย

S.T.A.T เป็น Zip Line ที่มีไว้ใช้สำหรับการห้ามเลือดและการกันพิษที่จะกระจายเข้าร่างกาย โดยฟังดูแล้วอาจจะไม่แปลกใจว่ามันน่าสนใจอย่างไร แต่จริง ๆ แล้ว เจ้า S.T.A.T นั้นสามารถรัดอวัยวะเพื่อห้ามเลือดและกันพิษได้อย่างรวดเร็วเพียงไม่ถึง 2 วินาที โดยได้มีการทดลองถึงแรงบีบของมัน ที่สามารถรัดจนเปิดช่องโหว่ของเส้นเลือดได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งมีวิธีการใช้ที่ง่ายดายมาก ๆ เพียงแค่ครอบส่วนที่ต้องการรัดเอาไว้ และล็อกไว้กับตัวล็อกเหมือน Zip Line ทั่วไป เป็นอันเสร็จ จากนั้น เมื่อทำการล็อกเสร็จ เราสามารถกดปุ่ม timer ที่อยู่ตรงตัวของมันได้ เพื่อทำการจับเวลาแบบอัตโนมัติ ให้เรารู้ว่าเราได้ทำการรัดไปเป็นเวลาเท่าไรแล้ว ไว้ใช้เป็นข้อมูลให้แพทย์ทางโรงพยาบาลทราบได้ นอกจากนี้เจ้า S.T.A.T. ยังมีความแข็งแรงมาก ขนาดที่นำค้อนมาถุบ ยังไม่มีส่วนใดบุบสลายเลย เรียกได้ว่าไม่มีวันขาด และคงทนมาก ๆ อีกด้วย

อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถรู้ได้ทันเวลา แต่สิ่งที่เราทำได้คือคอยป้องกันไม่ให้เกิด แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว เราก็ต้องหาวิธีรับมือกับมันอย่างดีที่สุด Zip Line S.T.A.T. เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในการช่วยปฐมพยาบาลให้ถูกวิธี และมีประสิทธิภาพที่น่ามีเก็บไว้ในยุคนี้ทุกบ้าน