ลืมภาพจำรถเข็นสำหรับผู้พิการแบบเดิม ๆ ไปได้เลย

ในอดีตหลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับการเห็นผู้พิการหรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินได้ด้วยตนเอง หรือเดินเองได้ไม่ค่อยสะดวก ถูกพามาในสถานที่ต่าง ๆ ด้วยการที่มีญาติหรือเพื่อนที่ทำหน้าที่เป็นคนเข็นรถให้นั่ง แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในยุคนี้ทำให้ภาพจำเหล่านั้นอาจจะค่อย ๆ เลือนหายไปในที่สุด เพราะปัจจุบันได้มีการนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาพัฒนาให้รถเข็นสำหรับผู้พิการไม่ใช่รถเข็นธรรมดาอีกต่อไป แต่เป็น Smart Wheelchair ซึ่งเป็นเทคโนโลยีสำหรับผู้พิการ ที่สามารถทำงานและตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้มากขึ้น

Smart Wheelchair เป็นรถเข็นสำหรับผู้พิการที่นำเอาเทคโนโลยีระบบไฟฟ้าเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ผู้ใช้งานไม่ต้องออกแรงมากเกินไปในการเคลื่อนตัวไปในที่ต่าง ๆ โดยระบบควบคุมอาจเป็นแบบปุ่มกด หรือ แบบ Joystick ที่มีไว้เพื่อควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของรถเข็น แต่ที่เหนือไปกว่านั้นคือต่อมาได้มีการนำเอาแอปพลิเคชันในระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบ iOS หรือ ระบบ Android เข้ามาช่วยควบคุมการทำงานของล้อรถเพื่อให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้นไปอีก

หลักการทำงาน ของ Smart Wheelchair แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก ๆ  โดยส่วนที่หนึ่ง คือ ส่วนที่เป็นอุปกรณ์ (Hardware) อันประกอบด้วยรถเข็นสองล้อทั่วไปที่นำมาประกอบเข้าด้วยกันกับมอเตอร์ควบคุมการเคลื่อนที่ รวมทั้งบอร์ดควบคุมการทำงานของมอเตอร์นั้นด้วย และส่วนที่สอง คือ ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ที่คิดค้นขึ้นทั้งในระบบปฏิบัติการแบบ IOS และ ระบบ Android โดยเชื่อมต่อการทำงานของทั้งสองส่วนเข้าด้วยกันผ่าน Bluetooth 

ด้วยระบบแอปพลิเคชันนี้ ผู้ใช้งานสามารถควบคุมการเคลื่อนที่ของ Smart Wheelchair ได้ใน 4 รูปแบบด้วยกัน อาทิ

  • ควบคุมด้วยระบบสัมผัสหน้าจอ (Touchscreen)
  • ควบคุมด้วยหลักการ Accelerometer ที่สามารถบังคับทิศทางของล้อรถเข็นให้แสดงผลตามความลาดเอียงหรือการเบี่ยงซ้าย ขวา หน้า หลัง ตามตำแหน่งองศาความลาดเอียงของหน้าจอ Smartphone ได้
  • ควบคุมด้วยระบบคำสั่งงานด้วยเสียง โดยการตั้งค่าให้ Smartphone จดจำน้ำเสียงพูดของผู้ใช้งาน (Voice Recognition) แต่อย่างไรก็ดีด้วยข้อจำกัดทางด้านภาษา ผู้ใช้งานอาจจะต้องเรียนรู้ในการที่จะออกคำสั่งเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นภาษาที่แอปพลิเคชันสามารถรองรับได้ง่ายกว่าภาษาไทย
  • ควบคุมด้วยสายตา (Smart Wheelchair based on Eye Tracking) ภายใน Smart Wheelchair จะมีเครื่องมือที่ทำหน้าที่คอยตรวจจับการเคลื่อนไหวดวงตาของผู้ใช้งาน เพื่อส่งข้อมูลประมวลผลไปยังส่วนควบคุมทิศทางของล้อรถให้เปลี่ยนทิศทางไปตามสายตาของผู้ใช้งาน

โดยรูปแบบแต่ละอันก็อาจมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจและงบประมาณของผู้ใช้งานในแต่ละราย อย่างไรก็ดีไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการใช้งานแบบใด การคิดค้นนวัตกรรมนี้ขึ้นมาก็เป็นประโยชน์มหาศาลต่อผู้ใช้งานที่อาจจะเป็นได้ทั้งผู้พิการหรือผู้สูงอายุให้มีทางเลือกในการที่จะดำรงชีวิตอยู่ภายในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและมีความสุข ไม่ต้องรู้สึกว่าตนเองกลายเป็นภาระของผู้อื่นมากจนเกินไป และเป็นการสนับสนุนให้เห็นถึงแนวคิดที่สำคัญในการที่จะช่วยกันคิดค้นเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้พิการในสังคมมากขึ้น