การทำงานที่ต้องเร่งรีบในแต่ละวัน ไหนจะเสียเวลาไปกับการเดินทางอันยาวนานด้วยการจราจรที่แน่นขนัดไปทุกเส้นทางในเมืองกรุง ส่งผลให้เมื่อกลับมาถึงบ้านแต่ละคนก็แทบจะหมดเรี่ยวหมดแรงไม่อยากที่จะต้องทำอะไรกันอีกแล้ว แต่จะเป็นไปได้อย่างไรในเมื่อยังมีงานบ้านที่รอให้สะสางอยู่อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า รีดผ้า หรืองานอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานทำความสะอาดบ้าน เพราะสภาพวะแวดล้อมในเมืองช่างง่ายต่อการก่อให้เกิดมลพิษและฝุ่นตัวร้ายที่จะคอยคุกคามระบบทางเดินหายใจของคุณและคนที่คุณรัก ไม่ว่าอย่างไรการจัดการกับฝุ่นในบ้านจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ถ้าเป็นอย่างนั้นจะดีกว่าไหมหากมีเทคโนโลยีชนิดหนึ่งชนิดใดเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระให้กับคุณแม่บ้านและคุณพ่อบ้านยุคใหม่ได้

หากนึกถึงอุปกรณ์ที่จะสามารถช่วยทุ่นแรงในการจัดการกับฝุ่นในบ้านโดยที่เราไม่ต้องลงมือลงแรงเลยแม้แต่นิดเดียว เชื่อว่า “หุ่นยนต์ดูดฝุ่น” น่าจะเป็นหนึ่งในตัวเลือกแรก ๆ ที่คนในยุคที่เทคโนโลยีถูกพัฒนาไปไกลอย่างก้าวกระโดดจะนึกถึง ซึ่งเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนี้ค่อย ๆ ถูกพัฒนามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2013 และยังคงถูกพัฒนาเรื่อยมาอย่างต่อเนื่อง

หากจะพูดถึงระบบการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่น ปัจจัยที่จะขาดไปไม่ได้เลยก็คือ ระบบการนำทาง ที่เรียกว่า เทคโนโลยี Robot Vacuum Navigation System ซึ่งรูปแบบการทำงานหลัก ๆ ด้วยกัน 3 แบบ คือ

  1. การนำทางด้วยเซนเซอร์อินฟราเรด (Infrared Sensor) ที่จะยิงสัญญาณออกไปเพื่อหาพื้นที่ว่างในการเข้าไปทำความสะอาด ระบบนี้จะช่วยให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเคลื่อนออกมาจากบริเวณสิ่งที่มีวัตถุกีดขวางทางอยู่
  2. การใช้กล้องเพื่อสร้างแผนที่ในการนำทาง (Mapping Camera) ซึ่งเป็นกล้องชนิดเดียวกันกับที่ติดอยู่บนโทรศัพท์มือถือ
  3. การใช้ระบบเลเซอร์วัดระยะทาง (Laser Distance Sensor) ซึ่งเลเซอร์ที่ยิงออกมาเป็นชนิดที่ไม่มีอันตรายต่อมนุษย์ ยิงออกมาเพื่อหาว่ามีวัตถุรอบข้างอยู่หรือไม่

อย่างไรก็ดีการทำงานของหุ่นยนต์ดูดฝุ่นนี้อาจใช้รูปแบบการทำงานแต่ละแบบหรือใช้รูปแบบผสมก็ได้ขึ้นอยู่กับการออกแบบของแต่ละผู้ผลิต

5 ข้อควรพิจารณา เมื่อต้องตัดสินใจซื้อหุ่นยนต์ดูดฝุ่น

  1. รูปลักษณ์หรือรูปทรงภายนอก ควรพิจารณาเลือกซื้อให้เหมาะกับสภาพพื้นที่ในบ้าน เพื่อให้การดูดฝุ่นเป็นไปด้วยความสะดวก โดยรูปทรงที่เป็นที่นิยม และมีให้เลือกในท้องตลาด ได้แก่ ทรงกลม ทรงเหลี่ยม และทรงครึ่งกลมครึ่งเหลี่ยม
  2. ความจุของแบตเตอรี่ หากต้องการระยะเวลาในการดูดฝุ่นนานก็ต้องเลือกหุ่นยนต์ดูดฝุ่นที่มีปริมาณความจุแบตเตอรี่มาก ๆ หรือการทำงานกินแบตเตอรี่ไม่มากเกินไปนัก ทางที่ดีควรมีระบบ Self-Charging Base เพื่อการชาร์จแบตอัตโนมัติให้ตัวเครื่องเพื่อพร้อมสำหรับการใช้งานอยู่เสมอ
  3. ขนาดกล่องสำหรับไว้ใส่ฝุ่นละออง ควรเลือกขนาดความจุที่เหมาะสมกับการใช้งาน แต่โดยทั่วไปความจุยิ่งมากก็ยิ่งดี เพื่อลดการเสียเวลาในการนำเศษขยะไปทิ้งบ่อย ๆ
  4. ระดับความดังของเสียงเครื่องยนต์ขณะทำงาน โดยทั่วไป เสียงเครื่องดูดฝุ่น (Vacuum Cleaner) จะส่งเสียงที่ระดับเสียงประมาณ 70 dB ซึ่งไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยิน
  5. ฟีเจอร์เพิ่มเติม อื่น ๆ เช่น การตั้งเวลาปิด – เปิด  การใช้รีโมทควบคุมจากระยะไกล หรือ การสั่งงานผ่านแอปพลิเคชัน หรือการใช้กำแพงเสมือน (Virtual Wall) เพื่อป้องกันไม่ให้หุ่นยนต์ดูดฝุ่นเข้าไปทำงานในบริเวณที่คุณไม่ต้องการ เป็นต้น