หากกล่าวถึงโลกของเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคสมัยนี้ คงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอีกต่อไป หากเราออกเดินไปบนท้องถนนแล้วพบกับใครบางคนที่กำลังทำท่าเหมือนคุยอยู่กับใครอีกคนหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่มีเขาผู้นั้นยืนอยู่เพียงลำพัง เทคโนโลยีคำสั่งเสียงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันของคนในสังคมเพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้หากใครมี Smartphone อยู่กับตัวก็คงอาจจะเคยทดลองใช้งานคำสั่งเสียงอย่างแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า SIRI หรือ Google Assistant กันมาไม่มากก็น้อย

เทคโนโลยีคำสั่งเสียง เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้มนุษย์สามารถพูดคุยสั่งงานกับคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ได้ ผ่านการจดจำเสียง หลักการเบื้องต้นทั่วไปของการใช้งานคำสั่งเสียง เริ่มจากผู้ใช้งานเข้าไปตั้งค่าให้อุปกรณ์จดจำน้ำเสียงของตนเอง จากนั้นทุกครั้งที่มีการพูดคุยหรือสั่งงานกับอุปกรณ์ที่ถูกตั้งค่าให้จดจำน้ำเสียงนั้น ๆ ไว้ ก็จะเกิดการประมวลผลและตอบสนองต่อคำสั่งที่ได้รับ โดยเทคโนโลยีคำสั่งเสียงประกอบไปด้วยสิ่งที่เรียกว่า Deep Learning ซึ่งจะทำหน้าที่รับคำสั่งเสียงที่ได้มาแปลงเป็นตัวอักษรเพื่อให้อัลกอริทึมของระบบนำข้อมูลนี้ไปแปลงเป็นภาษาที่ทำให้อุปกรณ์เข้าใจแล้วสามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้เรียกว่า กระบวนการประมวลผลทางภาษา (Natural Language Processing: NLP)

ในยุคของโลกดิจิทัลได้มีการนำเอาเทคโนโลยี Internet of Things เข้ามามีบทบาทต่อการสั่งงานระหว่างผู้ใช้งานกับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากยิ่งขึ้น เทคโนโลยีคำสั่งเสียงก็ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยี Internet of Things เหล่านี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสั่งงานด้วยคำสั่งเสียงกับเครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ รถยนต์ เป็นต้น ด้วยความก้าวหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีคำสั่งเสียงนี้ ส่งผลให้มนุษย์สะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเพราะมีผลการวิจัยกล่าวว่าการใช้คำสั่งเสียงช่วยให้สมองของมนุษย์ลดภาระการทำงานไปได้ในระดับหนึ่ง และนอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้งานของสายตาจากการจ้องมองหน้าจออุปกรณ์ต่าง ๆ มากเกินไป

จากประโยชน์ต่าง ๆ ที่กล่าวมาทำให้ทราบว่าเทคโนโลยีคำสั่งเสียงมีข้อดีมากมาย แต่ถึงอย่างนั้นข้อด้อยก็มีมากเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เสียงรบกวนจากสภาพแวดล้อมภายนอกอาจทำให้อุปกรณ์ไม่สามารถเข้าใจคำสั่งเสียงได้ในทันที อาจจะต้องใช้ระยะเวลาในการประมวลผลนานพอสมควร นอกจากนี้ระยะทางจากแหล่งกำเนิดเสียงของผู้ใช้งานกับตัวอุปกรณ์ยังมีผลค่อนข้างมาก เนื่องจากหากระยะทางไกลเกินไปคำสั่งเสียงที่อุปกรณ์ได้รับอาจไม่ชัดเจนและในบางครั้งคำสั่งอาจไม่เป็นส่วนตัวและเสียงอาจรบกวนผู้คนรอบข้างได้ และที่สำคัญระบบภาษาที่อุปกรณ์สามารถรองรับได้ก็เป็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยซึ่งมีภาษาที่ค่อนข้างยุ่งยากสลับซับซ้อนต่อการประมวลผล จึงอาจทำให้การสื่อสารกับกับอุปกรณ์ยังเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร

แต่ถึงอย่างไรก็ตามเทคโนโลยีคำสั่งเสียงนี้ก็ยังคงถูกพัฒนาไปอย่างต่อเนื่อง เป็นเทคโนโลยีหนึ่งที่ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปและจะเข้ามามีบทบาทต่อผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ และเชื่อว่าไม่ช้าในอนาคตอันใกล้เทคโนโลยีนี้จะเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ใช้งานไปตลอดกาล